shutterstock_266813078

สะพานฟันที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก และคงสงสัยว่า มันเกี่ยวข้องกับการรักษาฟันอย่างไร ซึ่งความจริงแล้วสะพานฟันก็คือ ฟันปลอมแบบชนิดติดแน่นประเภทหนึ่ง แค่ฟังก็คงจะนึกภาพออกเลยว่าคุณคงจะไม่สามารถถอดสะพานฟันนี้ออกจากปากได้แน่นอน ส่วนฟันปลอมสีชมพูที่อาจจะเคยเห็นผู้สูงอายุใช้กันนั้น คือคนละอย่างกัน เพราะฟันปลอมคนแก่นั่นสามารถถอดออกมาล้างทำความสะอาดและเอามาแช่น้ำก่อนนอนได้ ซึ่งฟันปลอมแบบนั้นเรียกกันว่าฟันปลอม แบบถอดได้ แต่หากเป็นแบบฟันปลอมแบบถอดไม่ได้ ก็คือสะพานฟันนั่นเอง

ข้อดีของการใช้สะพานฟัน

ข้อดีของสะพานฟันหรือฟันปลอมแบบติดแน่นก็คือ จะทำให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นฟันธรรมชาติมากกว่าฟันปลอมแบบถอดได้  เพราะจะไม่ขยับหรือหลวม และไม่หลุดในขณะพูด หรือเคี้ยวอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใส่มีความมั่นใจในบุคลิกมากขึ้น ซึ่งสะพานฟันเป็นฟันปลอมที่มีขนาดชิ้นงานค่อนข้างเล็ก จึงไม่ก่อให้เกิดความรำคาญและมีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวค่อนข้างสูง เนื่องจากแรงจากการบดเคี้ยวของอาหารจะถูกถ่ายทอดไปสู่ฟันธรรมชาติที่เป็นซี่ข้างเคียงที่ใช้เป็นหลักยึดฟันปลอมโดยตรง  ที่สำคัญข้อดีที่สุดอีกข้อหนึ่งก็คือสะพานฟันหรือฟันปลอมชนิดนี้ เหมาะสำหรับคนที่รักสวยรักงาม อยากมีบุคลิกดีและไม่อยากให้คนรู้ว่าใส่ฟันปลอม เพราะมีการออกแบบสะพานฟันให้ดูเป็นธรรมชาติคล้ายคลึงกับฟันปกติของผู้ป่วย  ไม่ว่าจะเป็นสีฟันขาว สีเหลืองอ่อนเข้ม หรือรูปร่างลักษณะฟันที่มีความอ้วนผอม มนรี เหลี่ยมขนาดไหน ก็ออกแบบให้เหมือนกับฟันธรรมชาติในปากของผู้ป่วยได้

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสะพานฟัน

หากจะอธิบายลักษณะของสะพานฟันให้เข้าใจง่าย ให้นึกถึงภาพสะพานข้ามแม่น้ำหรือว่าสะพานลอย เมื่อคุณถอนฟันออกไป ฟันจะหลอเป็นช่องว่าง จึงต้องทำสะพานเพื่อข้ามช่องฟันในส่วนที่หลอไป โดยปกติการทำสะพานจะต้องมีเสาที่หัวสะพานกับท้ายสะพาน คล้ายๆ กับสะพานลอยต้องมีเสาทั้งสองฝั่งถนนซึ่งทำเป็นบันไดให้คุณขึ้นไป ที่เป็นประเด็นหลักเลยว่าช่องว่างฟันที่คุณจะใส่สะพานฟันได้นั้น จะต้องมีฟันอยู่ข้าง ๆ ซ้ายขวาหรือหน้าหลัง เพื่อจะได้ทำเป็นเสาหัวและท้ายสะ พาน หากคุณฟันหลอแบบไม่มีฟันข้างใดข้างหนึ่งเหลืออยู่ แน่นอนว่าคงจะไม่สามารถทำสะพานฟันได้

 

ผู้ที่เหมาะสมกับสะพานฟันคือ ?

ฟันปลอมหรือสะพานฟันชนิดแบบติดแน่น เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันธรรมชาติไป อาจเป็นจำนวนน้อยเพียง 1-2 ซี่ต่อ 1 ช่องว่าง ส่วนฟันธรรมชาติที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังของช่องว่าง จะต้องอยู่ในสภาพดี และต้องไม่มีปัญหาโรคเหงือกอักเสบ หรือฟันผุอย่างรุนแรง และคุณเองก็จะต้องเป็นผู้ที่สามารถดูแลทำความสะอาดภายในช่องปากได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  โดยสามารถจำแนกสะพานฟันออกไปตามวัสดุคือ สะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบเซรามิกล้วนๆ ,  สะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันชนิดเซรามิกและโลหะ , และสะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบโลหะล้วน (ทอง)

หลักการใส่ฟันปลอมแบบสะพานฟัน

ทันตแพทย์จะทำการกรอฟันซี่ข้างเคียง เพื่อทำครอบฟันและเพื่อให้เป็นหลักยึดของสะพานฟันหรือเป็นเสาของสะพานฟันในส่วนของตัวสะพานที่อยู่ตรงช่องว่างก็จะทำเป็นรูปฟันหรือฟันปลอมห้อยไว้สำหรับปิดช่องว่างฟันหลอของคุณ ขั้นตอนการเตรียมฟันก็คือ การกรอเนื้อฟันข้างเคียงของสะพานฟันที่อาจก่อให้เกิดการเสียวฟันได้ ระหว่างการทำสะพานฟันจึงต้องมีการใส่ยาชา เพื่อลดอาการเสียวฟัน โดยสะพานฟันประเภทเซรามิกที่ผสมโลหะและเป็นแบบเซรามิกล้วนซึ่งจะมีสีสันที่เหมือนฟันจริงตามธรรมชาติ โดยทันตแพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ผู้เข้ารับบริการเลือกใช้สะพานฟันแบบเซรามิก ที่เป็นผสมโลหะสำหรับทดแทนฟันกราม ซึ่งเป็นการใช้ในการบดเคี้ยวแบบเซรามิกเพื่อเป็นการทดแทนฟันหน้า ซึ่งสะพานฟันแบบเซรามิกล้วนจะให้ความใสและสวยงามเหมือนฟันตามธรรมชาติ ส่วนสะพานฟันแบบโลหะล้วนๆ จะมีความแข็ง แรงและทนทานมากที่สุด ไม่มีการบิ่นหรือแตกเหมือนเซรามิก แนะนำให้ใช้กับฟันหลังที่มีการใช้แรงในการบดเคี้ยวอาหารมากกว่า และอยู่ข้างในช่องปากจะทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน จึงไม่ต้องเน้นเรื่องความสวยงามมากเท่าใดนัก

การดูแลสะพานฟัน

หลังจากทำสะพานฟันแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งภายใน 24 ชั่วโมงหลังและควรรับประทานอาหารอ่อนจนกว่าจะชินกับสะพานฟัน อาจจะพบกับปัญหาเสียวฟัน บ้างแต่จะหายได้เองภายในเวลาไม่นาน และหลีกเลี่ยงอาหารที่ร้อนหรือเย็นเกินไป การใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์ และรับประทานยาแก้ปวด สามารถช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการเสียวฟันได้

 

การใส่ฟันปลอมแบบสะพานฟันมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าฟันปลอมแบบถอดได้ทั่วไป จะต้องทำความสะอาดให้ดี เพราะความติดแน่นในปากจึงทำความสะอาดได้ยาก จึงต้องดูแลทำความสะอาดช่องปากเป็นอย่างดี ด้วยการทำความสะอาดจากการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง  หลังรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นการเริ่มวินัยที่ดีในการดูแลสุขภาพปากและฟัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง